โพล “โคแฟค” ระบุสื่อไทยเด่นด้านทำข่าว แต่ยังอ่อนจริยธรรม

สังคม โคแฟค

โพลเผยคนกรุงมองสื่อไทยเด่นด้านนำเสนอ-อ่อนจริยธรรม ถ้าเรียงลำดับ กระบวนการทำข่าวดีที่สุด รองลงมาเป็นความเชี่ยวชาญของตัวนักข่าว 

วันที่ 24 ก.ย.2565 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) แถลงผลการสำรวจ “ประเด็นความน่าเชื่อถือต่อสื่อ (Thailand Trusted Media Survey 2022)” ที่เวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI)

การสำรวจครั้งนี้ มาจากแนวคิดในต่างประเทศ ซึ่งพบว่า ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อสื่อนั้นตกต่ำลงทั่วโลก จึงนำตัวชี้วัด 8 ประการ ที่ต่างประเทศใช้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อในไทยบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้ไม่สามารถสำรวจกลุ่มตัวอย่างได้ขนาดใหญ่ จึงเลือกสำรวจในพื้นที่กรุงเทพ ฯ

สังคม โคแฟค

มีกลุ่มตัวอย่าง 200 คน เพศชายและหญิงอย่างละครึ่งเท่ากัน อายุระหว่าง 15-60 ปี และพยายามให้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งด้านการศึกษา อาชีพ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค.2565

เมื่อดูค่าเฉลี่ยในภาพรวม จากคะแนนเต็ม 5 สื่อไทยได้อยู่ที่ 3.22 ถือว่าไม่เลวร้าย โดยด้านกระบวนการทำข่าว (Methods) เป็นด้านที่สื่อไทยได้คะแนนมากที่สุดคือ 3.42 ซึ่งหมายถึง กระบวนการทำข่าวมีความน่าสนใจ เร้าใจหรือแปลกใหม่ แต่ในด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ (Best Practices) ได้เพียง 2.91 เท่านั้น สะท้อนภาพความจำเป็นในการปรับปรุงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

เมื่อดูเป็นรายด้าน เริ่มตั้งแต่ 1.กระบวนการทำข่าว (Methods) แม้จะได้คะแนนมากที่สุด (3.42 จาก 5 คะแนน) ในทั้งหมด 8 ด้าน แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่า หลายอย่างเป็นสิ่งเดิม ๆ ที่ทำกันอยู่แล้ว (The same old things) ซึ่งรวมถึงปัญหาเดิม ๆ เช่น ไม่มีที่มาของแหล่งข่าว

2.ความเชี่ยวชาญของนักข่าว (Journalist Expertise) อยู่ในอันดับ 2 (3.38 จาก 5 คะแนน) แต่ก็พบภาพความไม่เชื่อมั่นต่อสื่อในด้านนี้ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับการเมือง ที่นำเสนอแบบไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงขั้นที่บางครั้งก็นำเสนอข่าวลวง

3.เสียงที่หลากหลาย (Diverse Voices) มาเป็นอันดับ 3 (3.36 จาก 5 คะแนน) ประเด็นนี้มีข้อสังเกตจากกลุ่มตัวอย่าง เช่น เสนอข่าวในเชิงบวกสนับสนุนรัฐอย่างเดียว หรือไม่ก็เสนอข้อมูลด้านเดียวของอีกฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลและผู้มีอิทธิพลยังเป็นกลุ่มหลักที่พื้นที่ในสื่อ (Spotlight)

4.เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ (Locally Sourced) อยู่ในอันดับ 4 (3.27 จาก 5 คะแนน) หมายถึงลงพื้นที่ไปทำข่าวแล้วเข้าใจพื้นที่นั้นหรือไม่ มีข้อสังเกตเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข่าวจากหลายปัจจัย เช่น ถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือไปนำข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมานำเสนอต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน อาทิ ข่าวปืนลั่นในห้องเรียนที่ตอนแรกนำเสนอกันว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ระเบิด